วันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

โรคมะเร็งหลังโพรงจมูก

 

โรคมะเร็งหลังโพรงจมูก


โรคร้ายแรงที่น่ากลัวมากที่สุดในปัจจุบัน คือ โรคมะเร็ง แต่วันนี้เรามารู้เท่าทันโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกกัน โรคมะเร็งหลังโพรงจมูกเป็นโรคที่อยู่ในตำแหน่งซ่อนเร้น จึงทำให้ผู้ป่วยมาหาด้วยอาการของระยะแพร่กระจาย ในแต่ละปีพบผู้ป่วยทั่วโลกไม่ถึง 1 ต่อแสนคน แต่ในบางบริเวณจะพบผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้สูงอย่างเด่นชัด ได้แก่ จีนตอนใต้ แคนาดา อลาสกา ชาวเอสกิโมในกรีนแลนด์   บางส่วนของแอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย สำหรับในประเทศไทยพบมะเร็งหลังโพรงจมูก ในผู้หญิง 1.6 ต่อแสนคนต่อปี ในชาย 4.5 ต่อแสนคนต่อปี จัดเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับเก้าสำหรับผู้ชายไทย ทั้งนี้พบอุบัติการณ์ในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิงประมาณสองเท่า ส่วนมากอยู่ในวัยหนุ่มสาวถึงกลางคน ในโรงพยาบาลศิริราชตรวจพบผู้ป่วยใหม่ประมาณ 90 – 100 คนต่อปี

 

สาเหตุ

1. พันธุกรรม   จาก การที่พบว่าโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกมีความชุกสูงเฉพาะในบางเขตภูมิศาสตร์ เช่นในประเทศจีนตอนใต้ และส่วนอื่นๆที่ชาวจีนอพยพไป ทำให้มีการศึกษาว่าพันธุกรรมอาจเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดมะเร็งชนิดนี้

  1. ไวรัส  เป็นที่ยอมรับกันว่าไวรัสเอปสไตน์บาร์ (Epstein-Barr virus - EBV) มี ส่วนสำคัญต่อการเกิดโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก โดยศึกษาพบว่าผู้ป่วยมะเร็งหลังโพรงจมูกจะมีสารภูมิคุ้มกันต่อไวรัสชนิดนี้ ในปริมาณที่สูงกว่าประชากรทั่วไปที่มีสุขภาพดี


3. อาหารการกิน พบว่าในมณฑลกวางตุ้งซึ่งมีอุบัติการณ์ของมะเร็งหลังโพรงจมูกในอัตราสูงนั้น ประชาชนนิยมบริโภคปลาหมักเค็มกันมากกว่าจีนส่วนอื่น

4. สิ่งแวดล้อม มีปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมหลายอย่างที่อาจมีผลต่อการเกิดโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก ได้แก่ฝุ่นละออง ควันไฟจากการเผาไม้หรือหญ้า สารเคมีต่างๆ ตลอดจนบุหรี่

 

อาการ

1. ก้อนที่คอ เป็น อาการที่พบมากที่สุดของผู้ป่วยโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกที่มาพบแพทย์ โดยก้อนที่คอนั้นอาจมีเพียงข้างใดข้างหนึ่งหรือเป็นทั้งสองข้างก็ได้

2. อาการทางจมูก เช่นมี น้ำมูกปนเลือดบ่อยครั้ง แน่นจมูกหายใจไม่ค่อยสะดวก หรือมีน้ำมูกไหลลงคอเรื้อรัง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยหลายรายอาจได้รับการรักษาแบบโพรงจมูกหรือโพรงไซนัสอักเสบ เรื้อรังมาก่อน

3. อาการทางหู ได้แก่ การได้ยินบกพร่อง มีเสียงดังในหู ปวดหู หรือมีของเหลวไหลออกจากหู ซึ่งเกิดจากการทำงานผิดปกติของท่อเชื่อมหูชั้นกลาง เนื่องจากโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกกระจายตัวมาถึง

4. ระบบประสาท ได้แก่ อาการปวดศีรษะ มองเห็นภาพซ้อน ชาที่ใบหน้า ในรายที่ลุกลามมาก ผู้ป่วยก็อาจมีอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้า เวียนศีรษะ เสียงแหบ กลืนลำบาก หรือสำลักได้

5. อาการของการกระจายของมะเร็งไปสู่อวัยวะอื่นๆ

 

การวินิจฉัยโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก


1. โดยการซักประวัติ

2. จากการตรวจร่างกาย ใน บริเวณศีรษะและคออย่างละเอียดรวมถึงการตรวจร่างกายทั่วไปซึ่งมีความสำคัญใน การวินิจฉัยมะเร็งหลังโพรงจมูก และประเมินขอบเขตของมะเร็งที่อาจกระจายไปแล้ว ตลอดจนประเมินการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลือง ปัจจุบันการใช้กล้องส่องตรวจขนาดเล็กทั้งแบบแข็งหรือแบบอ่อนช่วยให้แพทย์สามารถเห็นตำแหน่งของมะเร็งได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น

3. การ ตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา เป็นการให้การวินิจฉัยที่แน่นอนที่สุด การตัดชิ้นเนื้อตรวจสามารถทำได้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกโดยการใช้ยาชาเฉพาะที่ และอาจใช้ กล้องส่องช่วยในการตัดชิ้นเนื้อด้วยได้

4. การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ

- การตรวจเซลล์ ผู้ป่วยมะเร็งหลังโพรงจมูกบางรายมาพบแพทย์ครั้งแรกด้วยปัญหาต่อมน้ำเหลือง ข้างลำคอโต โดยที่แพทย์ไม่พบความผิดปกติที่บริเวณหลังโพรงจมูก การเจาะและดูด (fine needle aspiration biopsy -FNA) บริเวณต่อมน้ำเหลืองเพื่อตรวจเซลล์ สามารถช่วยในการวินิจฉัยได้

- การตรวจเลือด โดยการตรวจสารภูมิต้านทานอิมมูโนโกลบูลินเอ( IgA antibodies) ต่อไวรัสเอปสไตน์บาร์ (Epstein-Barr virus specific antigens) โดยพบว่าผู้ป่วยมะเร็งหลังโพรงจมูกจะมีปริมาณสารภูมิต้านทาน สูงกว่าประชากรปกติ นอกจากนี้จะมีการส่งตรวจเลือด เพื่อดูความเข้มของเลือด ตรวจดูระดับการทำหน้าที่ของตับ เพื่อประเมินสภาพผู้ป่วยในการวางแผนการรักษาต่อไป

- การตรวจทางรังสีวิทยา ดังได้กล่าวแล้วว่าผู้ป่วยบางรายที่แพทย์สงสัยว่าเป็นมะเร็งหลังโพรงจมูกแต่ตรวจร่างกายไม่พบก้อนเนื้อหรือแผลที่บริเวณหลังโพรงจมูก การตรวจ computed tomography (CT) และ magnetic resonance imaging (MRI) จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยวินิจฉัยโรค และการตรวจทั้งสองอย่างนี้ยังสามารถบอกขอบเขตการลุกลามของตัวมะเร็งตลอดจน การแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองได้เป็นอย่างดี   นอกจากนั้นการตรวจทางรังสีวิทยาอย่างอื่น ยังมีประโยชน์ในการตรวจหาว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นๆอีกหรือไม่ ได้แก่ การตรวจ bone scan และการตรวจอัลตราซาวด์ตับ (liver ultrasound) เป็นต้น

 

การรักษาโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก


การรักษามะเร็งหลังโพรงจมูกโดยหลักแล้วคือการใช้รังสีรักษา โดยอาจร่วมกับการให้เคมีบำบัดทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะการดำเนินโรคของมะเร็ง สำหรับ การผ่าตัดนั้นไม่มีบทบาทในการรักษาโดยตรงเนื่องจากมะเร็งหลังโพรงจมูกมีขอบ เขตของรอยโรคใกล้กับอวัยวะที่สำคัญ อาทิเส้นเลือดแดงใหญ่ที่เลี้ยงคอและสมอง ฐานกะโหลกศีรษะ ตลอดจนส่วนของสมองเอง อย่าง ไรก็ตามการผ่าตัดก็ยังคงมีบทบาทในการรักษามะเร็งหลังโพรงจมูก ในกรณีที่สามารถควบคุมตัวมะเร็งหลังโพรงจมูกได้แล้ว แต่ยังคงมีก้อนที่คออยู่ หรือในผู้ป่วยที่มีมะเร็งเกิดซ้ำหรือหลงเหลือในบริเวณที่จำกัด ก็อาจพิจารณาผ่าตัดได้ในบางราย

ถ้าขึ้นชื่อว่า “มะเร็ง” แล้ว หลายๆคนก็คงจะกลัว ไม่อยากที่จะเผชิญหน้ากับก้อนเนื้อร้ายของมันโรคมะเร็งไม่น่ากลัว..หากรู้จักสำรวจตัวเอง ป้องกันตัวเองเบื้องต้น เมื่อพบอาการผิดปกติ จะได้มามาพบแพทย์และทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ยังมีโอกาสหายได้.

 

 

เครดิต

รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน

ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา

Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น